วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ชนิดของคำในภาษาไทย

การจำแนกชนิดของคำในภาษาไทย สามารถจำแนกได้ตามความหมาย และหน้าที่ที่ใช้ในประโยค โดยแบ่งเป็น ๗ ชนิด คือ
๑. คำนาม
๒. คำสรรพนาม
๓. คำกริยา
๔. คำวิเศษณ์
๕. คำบุพบท
๖. คำสันธาน
๗. คำอุทาน
 
๑. คำนาม
          คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ อาการ และสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมคำนามแบ่งเป็น ๕ ชนิด คือ
          ๑.๑ นามทั่วไป (สามานยนาม) คือ คำที่ใช้เรียกชื่อทั่วไป โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคนสัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ใด เช่น ครู นักเรียน โรงเรียน พ่อ แม่ บ้าน จังหวัด ไฟฟ้า ถนน มะม่วง แม่น้ำ สะพาน การบ้าน อีแร้ง เครื่องบิน รถยนต์ เรือ ฯลฯ

          ๑.๒ นามเฉพาะ (วิสามานยนาม) คือ คำที่เป็นชื่อเรียกโดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร สัตว์ชนิดใด สิ่งของประเภทไหน หรือสถานที่แห่งใด เช่น กรุงเทพมหานคร โรงเรียนเตรียมทหาร วันอาทิตย์ เดือนมกราคม สะพานพระรามแปด สมชาย ฯลฯ

          ๑.๓ นามบอกหมวดหมู่ (สมุหนาม) คือ คำนามที่บอกถึงหมู่คณะ ของคน สัตว์ และสิ่งของที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น คณะ นิกาย บริษัท รัฐบาล ฝูง โขลง กอง เหล่า พรรค พวก ฯลฯ
          โดยทั่วไปสมุหนามมักจะใช้นำหน้าคำนามอื่น ๆ เช่น กองเสือป่า คณะกรรมการ พรรคร่วมรัฐบาล ฝูงปลาโลมา กองพันทหาร กองโจร ฯลฯ

          ๑.๔ นามบอกลักษณะ (ลักษณนาม ) คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะ สัณฐาน ชนิด จำนวน และหมวดหมู่ ของคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่
          โดยทั่วไปลักษณนามมักจะใช้ตามหลังคำคุณศัพท์ หรือตัวเลขที่บอกจำนวนเช่น
ไข่เป็ด ๒ ฟอง
ช้าง ๙ เชือก
เงิน ๕ บาท
รถโฟล์ก ๔ คัน
พระสงฆ์ ๔ รูป ฯลฯ
ลักษณนามแบ่งเป็น
ก. ลักษณนามบอกสันฐาน
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
วง
แหวน วงกลม ตะกร้อ สักวก มโหรี เพลง
 
ดวง
รอยด่าง ตรา พระอาทิตย์ ดาว ไฟ ดาวเทียม
หลัง
เรือน ตึก กูบ ประทุน เก๋ง บุษบก มุ้ง
 
กระบอก
ปล้องไม้ไผ่ ข้าวหลาม พลุ ปืน ไฟฉาย
แผ่น
ขนมปัง กระดาษ กระดาน กระเบื้อง อิฐ
 
เส้น
เชือก ลวด ด้าย ผม สร้อย เข็มขัด
ผืน
ผ้า เสื่อ พรม กระแชง หนังสัตว์ (ที่ใช้ปู) ธง
 
สาย
ถนน ทาง แม่น้ำ สร้อย แคว เข็มขัด
บาน
ประตู หน้าต่าง กระจกเงา กรอบรูป
 
ปาก
แห อวน สวิง โพงพาง เปล
ลูก
ส้ม ฟุตบอล พายุ
 
ปื้น
ตอก (ที่มีขนาดกว้าง) เลื่อย
ใบ
บัตรประชาชน ถาด จาน
 
ซี่
ฟัน ก้านร่ม ลูกกรง
แท่ง
เหล็ก ตะกั่ว ดินสอ ทอง ครั่ง
 
แพ
ฝอยทอง ข้าวเม่าทอด
ก้อน
สบู่ ถ่าน อิฐ เนื้อ
 
เกล็ด
พิมเสน ด่างทับทิม
คัน
ร่ม ฉัตร ธนู หน้าไม้ ช้อน ส้อม ซอ เบ็ด ไถ
 
ราง
ลูกคิด ระหัด ระนาด
ต้น
ส้ม เสา ซุง เทียนพรรษา
 
เม็ด
ยา กระดุม กรวด ถั่ว สิว
ลำ
ไม้ไผ่ อ้อย เครื่องบิน จรวด เรือ
 
ตับ
พลุ ลูกปืน ประทัด ปลาย่าง จาก
เครื่อง
วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ พัดลม
 
 
 
 
ข. ลักษณนามบอกการจำแนก
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
กอง
ลูกเสือ อิฐ ทราบ ผ้าป่า
 
ครอก
ลูกสุนัข ลูกปลา ลูกแมว ลูกหนู
พวก
คน สัตว์
 
ประเด็น
ปัญหา ข้อโต้แย้ง เรื่องราว ข้อความ
เหล่า
ทหาร เวไนยสัตว์
 
รูปแบบ
กวีนิพนธ์ งานประพันธ์ วิธีสอน การสอน การพัฒนา
หมวด
วิชา ทหาร ลูกเสือ ศัพท์
 
ลักษณะ
อุปนิสัย การกระทำ งาน
หมู่
คน สัตว์ ของ
 
แบบ
ทรงผม เครื่องแต่งกาย ตัวอักษร ตัวพิมพ์
ฝูง
วัว ควาย ปลา นก
 
ชนิด
เชื้อโรค ยา ผลิตภัณฑ์ คน พืช สัตว์
โขลง
ช้าง
 
ประเภท
อาหาร กับข้าง ดนตรี อาคาร
คณะ
คน พระสงฆ์
 
ประการ
พร ความสำเร็จ เหตุผล ความจำเป็น
นิกาย
ลัทธิ ศาสนา
 
อย่าง
กับข้าว เครื่องปรุง การกระทำ
สำรับ
กระดุม กับข้าว เครื่องเรือน เครื่องแต่งกาย
 
จำพวก
มนุษย์ เปรต สัตว์ พืช
ชุด
เครื่องแต่งกาย การแสดง ข้อสอบ
 
ระดับ
ภาษา ข้าราชการ การศึกษา
ข้อ
เลข คำแนะนำ สัญญา กติกา
 
ขั้น
ตำแหน่ง ความรุนแรง การเตรียมพร้อม การปฏิบัติ ยศ
โรง
ละคร โขน หนัง
 
ฉบับ
จดหมาย เอกสาร นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์
 
ค. ลักษณนามบอกจำนวน หรือปริมาณ
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
คู่
รองเท้า ถุงเท้า แจกัน เชิงเทียน ช้อนส้อม เขาสัตว์
 
โยชน์ กิโลเมตร
ระยะทาง
โหล
ดินสอ สมุด ไม้หนีบผ้า ของใช้
 
กล่อง
นม ของขวัญ
กุลี
ผ้าลาย ผ้าพื้น ผ้าโสร่ง (ผ้าห่อที่รวมกัน ๒๐ ผืน)
 
หยด
น้ำ น้ำยา เหงื่อ
บาท
เงิน ทองคำ เครื่องยาไทย
 
หีบ
นม เสื้อผ้า
ชั่ง กิโลกรัม
แป้ง ทองคำ ถั่ว
 
ขวด
น้ำอบ น้ำหอม น้ำปลา
ช้อน ถ้วย
แป้ง ถั่ว น้ำปลา น้ำ
 
ชะลอม
ผลไม้
ลิตร ตุ่ม ไห
 
 
 

ง. ลักษณนามบอกเวลา
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
ยก
การชกมวย การต่อสู้
 
ยุค
ช่วงเวลา
รอบ
การแสดง การแข่งขัน อายุ
 
หน
การกระทำ ความผิด การเตือน
ครั้ง
การประกวด การชกมวย การประชุม การแสดง
 
ที
การตี
คราว
การประชุม การจัดงาน
 
ช่วง
บทเรียน คลื่นเสียง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
สมัย
การประชุม ระยะเวลา
 
ศตวรรษ
เวลา
นาที ชั่วโมง
เวลา
 
กะ
การทำงาน การเข้ายาม
วัน เดือน ปี
 
 
 
 
 
จ. ลักษณนามบอกวิธีทำ
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
จีบ
พลู
 
กำ (ฟ่อน)
ผัก ช่อดอกไม้ ธูป
มวน
บุหรี่
 
ห่อ
ขนม เสื้อผ้า ของขวัญ
มัด
ฟืน ข้าวต้มผัด อ้อย ไม้รวก
 
หยิบ
ทองหยิบ
พับ
ผ้า กระดาษ
 
จับ
ขนมจีน
ม้วน
ผ้า กระดาษ แพร ริบบิ้น ฟิล์ม เชือก
 
ผูก
ใบลาน
 
ฉ. ลักษณนามอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถจัดเข้าพวกได้
ลักษณนาม
ใช้กับ

ลักษณนาม
ใช้กับ
พระองค์
พระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายชั้นสูง
 
อัน
ไม้บรรทัด คีม แปรงสีฟัน ที่เขี่ยบุหรี่
องค์
เจดีย์ พระทนต์ พระบรมราโชวาท
 
เลา
ปี่ ขลุ่ย
รูป
ภิกษุ สามเณร ชี
 
เชือก
ช้างบ้าน (ช้างป่าเรียกว่าตัว)
ตน
ยักษ์ ภูตผีปีศาจ ฤๅษี วิทยาธร
 
เรือน
นาฬิกา
คน
นักเรียน กรรมกร กรรมการ เจ้าหน้าที่
 
คัน
จักรเย็บผ้า รถ
ตัว
สุนัข แมว โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง
 
เล่ม
หนังสือ เกวียน เทียน เข็ม กรรไกร สิ่ว ดาบ
ขวาน หอก
ใบ
ส้ม ตู้ หม้อ กระโถน ตุ่ม หมอน
 
ชิ้น
ขนม งาน บทประพันธ์ ผ้า
เรื่อง
นิทาน นวนิยาย ภาพยนตร์ ละคร ธุระ
 
ด้าม
ปากกา
สิ่ง
กับข้าว ของ สิ่งของ
 
 
 
 
ช. ลักษณนามซ้ำชื่อ คือ การนำคำนามข้างหน้ามามาใช้เป็นลักษณะนาม เช่น
เพลงชาติไทยมี ๑ เพลง
มนุษย์มี นิ้วมือ ๑๐ นิ้ว
การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยมี ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมด ๒๑ ประเทศ
          คำ ที่ใช้ลักษณะนามซ้ำชื่อ ได้แก่กองทัพ กระทรวง กรม เขื่อน แคว้น ครอบครัว เงา จุด ตำแหน่ง นิ้ว หู หาง ปัญหา เพลง ภาษา ร้อน ฤดู วัด ศพ สมาคม หลุม องค์การ ตำบล อำเภอ เมือง รัฐ โลก ประเทศ หมู่บ้าน รูป ฯลฯ

          ๑.๕ นามบอกอาการ (อาการนาม) คือ คำนามที่ใช้บอกกริยาอาการ อาการนามมักมีคำว่า “ การ” และ “ ความ” นำหน้า โดยมีหลักในการใช้ดังนี้
          การ : ใช้นำหน้าคำกริยาทั่วไป
เช่น การเดิน การกิน การนอน การเรียน การสอน การพูด การอ่าน การฟัง ฯลฯ
 
          ความ :
๑. ใช้นำหน้าคำวิเศษณ์ทั่วไป เช่น ความดี ความชั่ว ความสวยความเร็ว ความไว ความถี่
๒. ใช้นำหน้าคำกริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ หรือคำที่มีความหมายเกี่ยวกับ “ เกิด มี เป็น ดัง เจริญ เสื่อม” เช่น ความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรัก ความตาย ความทุกข์ ความเจริญ
          “ การ” และ “ ความ” ที่นำหน้าคำชนิดอื่นที่ไม่ใช่กริยา หรือคำวิเศษณ์ ไม่ถือว่าเป็นอาการนาม แต่จะเป็นสามานยนาม เช่น การบ้าน การเรือน การพาณิชย์ การเมือง การไฟฟ้า การประปา การเงิน ความแพ่ง
 
หน้าที่ของคำนาม
          ๑. เป็นประธานของประโยค เช่น
ครู สอนหนังสือนักเรียน
ความสามัคคี คือพลัง
          ๒. เป็นกรรมของประโยค เช่น สุนัขถูกรถชน, แม่ชอบทำ ต้มยำกุ้ง โดยคำนามสามารถเป็นได้ทั้งกรรมตรง และกรรมรอง เช่น
เขาซื้อ เนื้อให้แก่ เสือโคร่ง (เนื้อเป็นกรรมตรง, เสือโคร่งเป็นกรรมรอง),
แม่เหยี่ยวป้อน เหยื่อให้ ลูกกา (เหยื่อเป็นกรรมตรง, ลูกกาเป็นกรรมรอง)
          ๓. เป็นส่วนขยายของคำนามที่มาข้างหน้า เช่น
ฉันชอบอ่านหนังสือ การ์ตูนโดเรมอน
พี่แฮท พี่ชายของฉันเป็นทหาร
          ๔. ขยายคำกริยาที่บอกสถานที่ เวลา หรือทิศทาง เช่น
คุณแม่ไป ทำงาน
อากาศร้อนมากเวลา กลางวัน
          ๕. เป็นส่วนเติมเต็มของกริยา ที่เรียกว่า “ ส่วนเติมเต็ม” เพราะคำนามเหล่านี้เมื่อใช้ตามหลังกริยา “ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ” แล้ว ประโยคจะได้ใจความสมบูรณ์ โดยคำนามเหล่านี้ไม่จัดเป็นกรรมของกริยา เช่น
เธอสวยเหมือน นางสาวไทย
อั้ม พัชราภาเป็น ดาราหนัง
          ๖. เป็นคำเรียกขานในฐานะประธาน กรรม หรือเรียกขานลอย ๆ เช่น
พี่ขา ขอเงินซื้อขนมหน่อย
ปกรณ์ เธอจะไปกินสุกี้กับฉันไหม
          ๗. เป็นคำตามหลังบุพบท เช่น คุณครูคอยอยู่ใน ห้องพักครู ใน เป็นคำบุพบท
สิ่งใดอยู่ใน ตู้ มิใช่อยู่ใต้ ตั่งเตียง ใต้ เป็นคำบุพบท

๒. คำสรรพนาม
          คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่ได้กล่าวถึงแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องเอ่ยคำนามนั้นซ้ำอีก คำสรรพนามแบ่งเป็น ๗ ชนิด คือ

          ๒.๑ สรรพนามใช้แทนบุคคล (บุรุษสรรพนาม) คือ คำที่ใช้แทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ถูกกล่าวถึง แบ่งเป็น ๓ บุรุษ คือ
          - สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้แทนตัวผู้พูด เช่น
ฉัน ดิฉัน อีฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า กู ข้า อั๊ว ข้อย อาตมา เกล้ากระหม่อม
          - สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เช่น
คุณ ท่าน เธอ ใต้เท้า เจ้า แก ลื้อ เอ็ง มึง พระคุณเจ้า โยม สีกา ฝ่าพระบาท
          - สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่เรากล่าวถึง เช่น
เขา ท่าน เธอ แก มัน หล่อน พระองค์

          ๒.๒ สรรนามชี้เฉพาะเจาจง หรือสรรพนามชี้ระยะ (นิยมสรรพนาม) คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนาม เพื่อบอกความใกล้ไกล ได้แก่คำว่า “ นี่ นี้ นั่น นั้น โน่น โน้น” เช่น
นี่ น้องของฉัน
นั่น คือเพื่อนรักของเขา
โน่น โรงเรียนเตรียมทหารของฉัน
นี่ ของเธอ

          ๒.๓ สรรพนามใช้ถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ คำสรรพนามที่มีความหมายเป็นคำถาม ได้แก่คำว่า “ ใคร ไหน อะไร สิ่งใด อันไหน ผู้ใด” เช่น
ใคร เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
ใคร มา
แกรู้ อะไรมาบ้าง
สิ่งใด อยู่ในตู้
ไหน ของเธอ

          ๒.๔ สรรพนามไม่เฉพาะเจาะจง (อนิยมสรรพนาม) สรรพนามพวกนี้จะมีรูปซ้ำกับปฤจฉาสรรพนาม แต่ไม่ใช่ประโยคคำถาม โดยจะใช้ในประโยคที่แสดงความไม่แน่นอน ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง และไม่ต้องการคำตอบ เช่น
อะไร ฉันก็กินได้ทั้งนั้น
ใคร ที่ทำดี ฉันก็รักทั้งนั้น
ใคร ๆ ก็บินได้

          ๒.๕ สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ หรือแบ่งพวก หรือรวมพวก (วิภาคสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวไปแล้ว เพื่อชี้ซ้ำอีกครั้ง และแยกคำนามนั้นออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่คำว่า “ ต่าง บ้าง กัน” ซึ่งมีหลักในการใช้ดังนี้
          ต่าง : ใช้แทนคำนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าคำนามนั้นแยกเป็นส่วน แต่ ทำกริยาอาการอย่างเดียวกัน เช่น
นักเรียน ต่างคุยเสียงดัง
กรรมกร ต่างทำงานอย่างขยันขันแข็ง
          บ้าง : ใช้แทนคำนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าคำนามนั้นแยกเป็นหลายส่วน และ ทำกริยาอาการต่างกัน เช่น
ผู้ชมละครเวที บ้างก็ปรบมือ บ้าก็นั่งเฉย ๆ
คุณครู บ้างก็จบจุฬาฯ บ้างก็จบธรรมศาสตร์
           กัน : ใช้แทนคำนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าคำนามนั้นแยกเป็นส่วน แต่ ทำกริยาอาการโต้ตอบกัน หรือเกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
นักเรียนยกพวกตี กัน
คู่บ่าวสาวสบตา กันหวานฉ่ำ
          คำวิภาคสรรพนามนี้ (ต่าง บ้าง กัน) ต้องใช้เพื่อแทนคำนามข้างหน้า แต่บางครั้งคำวิภาคสรรพนามเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แทนคำนาม ซึ่งเราต้องพิจารณาเองว่ามันเป็นคำชนิดใด เช่น
          - ฝีมือการเย็บจักรของฉัน ต่างจากคนอื่น (เป็นกริยาบอกสภาพ)
          - บอดี้การ์ด กันไม่ให้แฟนเพลงเข้าใกล้นักร้อง (เป็นกริยา)
          - ฉันกับเพื่อนลงทุนเปิดร้านขายขนมร่วม กัน (เป็นวิเศษณ์ขยายกริยา)
          - เพื่อนของฉันมีตัวเล็ก บ้าง ตัวใหญ่ บ้าง (เป็นวิเศษณ์ขยายเล็ก, ใหญ่)

          ๒.๖ สรรพนามเชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้เชื่อมสองประโยคให้มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ คำว่า “ ที่ ซึ่ง อัน ผู้” โดยคำเหล่านี้จะทำหน้าที่แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าเท่านั้น และทำหน้าที่เชื่อมประโยคย่อยเข้ากับประโยคหลัก ให้กลายเป็นประโยคความซ้อน เช่น
          - คน ที่ขยันเรียนสอบผ่าน
คนขยันเรียน เป็นประโยคหลัก (คน) สอบผ่าน เป็นประโยครอง
          - ทหาร ผู้เสียสละชีพเพื่อชาติสมควรได้รับการยกย่อง
ทหารเสียสละชีพเพื่อชาติ เป็นประโยคหลัก
(ทหาร) สมควรได้รับการยกย่อง เป็นประโยครอง

          ๒.๗ สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด ได้แก่ คำว่า “ ท่าน มัน แก เขา” โดยสรรพนามชนิดนี้มักจะวางไว้หลังคำนาม เพื่อเน้นความรู้สึกของผู้พูด ว่าแสดงความรู้สึกยกย่อง คุ้นเคย ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือความรู้สึกอื่น ๆ เช่น
คนขี้ขโมย มันต้องถูกลงโทษ (เกลียดชัง)
คุณตา ท่านรับราชการด้วยความซื่อสัตย์ (ยกย่อง)
 
หน้าที่ของคำสรรพนาม
           ๑. เป็นประธานของประโยค เช่น
ฉัน ชอบไปเที่ยวทะเล
โน่น คือบ้านของฉัน
          ๒. เป็นกรรมของประโยค
- กรรมตรง เช่น เชิญ ท่านเข้ามาก่อนคะ
- กรรมรอง เช่น โปรดนำหนังสือมาคืน ฉันวันนี้
          ๓. เป็นส่วนขยายของประธาน เช่น
หัวหน้า แกชองดุลูกน้อง
คุณครู ท่านให้ฉันเช็คชื่อแทน
วรรณวิภา เธอคือคนที่เพื่อนรัก
          ๔. เป็นส่วนเติมเต็มของกริยา เช่น
เธอคือ ใคร
สุนัขเป็น อะไร
พรโสภิตสวย เหมือนนางงาม
          ๕. เป็นคำเรียกขานในการสนทนา เช่น
คุณ คะ ถึงคิวดิฉันหรือยัง
เพื่อน ๆ ครับอย่าเสียงดัง
          ๖. เป็นตัวเชื่อมประโยคเข้าด้วยกัน เช่น
ครูชอบเด็ก ที่ตั้งใจเรียน
ฉันชอบบ้านสีฟ้า ที่อยู่ริมทะเล

 
๓. คำกริยา
          คือ คำที่แสดงอาการ/การกระทำของคำนาม หรือสรรพนาม เพื่อให้รู้ว่าคำนามหรือ คำสรรพนามนั้นทำ หรือเป็นอะไร เช่น
เด็กหญิง ร้องไห้ (เด็กหญิง เป็นคำนาม, แสดงกริยาร้องไห้)
เธอ ว่ายน้ำ (เธอ เป็นคำสรรพนาม, แสดงกริยาว่ายน้ำ)
 
ชนิดของคำกริยา คำกริยาแบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ
          ๓.๑ กริยาที่ไม่ต้องมีกรรม (อกรรมกริยา) คือ คำกริยาที่มี ความหมายครบถ้วนในตัวเอง โดยไม่ต้องมีกรรมมารับ และประโยคมีความหมายสมบูรณ์ เช่น
เด็ก ร้องไห้
นก บินสูง
รถ วิ่ง
          อ้อ ! ... คำต่อไปนี้ส่วนใหญ่เป็นอกรรมกริยา ได้แก่ นั่ง นอน ยืน เดิน ไป ร้องไห้

          ๓.๒ กริยาที่ต้องมีกรรม (สกรรมกริยา) คือ
          (๑) คำกริยาที่มี ความหมายไม่ครบถ้วนในตัวเอง จึงต้องมีกรรมมารองรับการกระทำ ประโยคจึงจะได้ใจความที่สมบูรณ์ เช่น
- แม่ กวาดบ้าน (ถ้าบอกว่า “ แม่ กวาด” เฉย ๆ ประโยคนี้ก็จะไม่ได้ใจความ ดังนั้น จึงต้องมี “ บ้าน” มาทำหน้าที่กรรมในประโยค เพื่อให้รู้ว่า “ แม่กวาดบ้าน” )
- ฉัน ทำการบ้าน (ถ้าบอกว่า “ ฉัน ทำ” เฉย ๆ ประโยคนี้ก็จะไม่ได้ใจความ ดังนั้น จึงต้องมี “ การบ้าน” มาทำหน้าที่กรรมในประโยค เพื่อให้รู้ว่าฉันทำการบ้าน)
          (๒) ลักษณะหนึ่งของสกรรมกริยาคือ เมื่อเราเห็นคำกริยาในประโยคนั้น ๆ แล้วต้องสามารถถามต่อไปได้ว่า “ อะไร” เช่น ตีอะไร, ชอบอะไร, มีอะไร, เห็นอะไร ฯลฯ ดูตัวอย่างต่อไปนี้
- แม่ กวาดบ้าน (แม่ กวาดอะไร)
- เด็ก ยิงนก (เด็กยิงอะไร)
- ฉัน ทำการบ้าน (ฉันทำอะไร)
          (๓) กรรมที่มารับนั้นอาจมีทั้งกรรมตรง และกรรมรอง เช่น
ครู แจกสมุดให้แก่นักเรียน (สมุด เป็นกรรมตรง, นักเรียน เป็นกรรมรอง)
ฉัน ถวายชุดสังฆทานแด่พระสงฆ์ (ชุดสังฆทาน เป็นกรรมตรง พระสงฆ์ เป็นกรรมรอง)
พี่ชายให้ขนมแก่น้อง ๆ ทุกคน (ขนม เป็นกรรมตรง น้อง ๆ เป็นกรรมรอง)
ประธานมอบธงแก่ผู้มาร่วมชุมนุม (ธง เป็นกรรมตรง ผู้มาร่วมชุมนุม เป็นกรรมรอง)
คุณตาแจกเงินให้แก่หลาน ๆ (เงิน เป็นกรรมตรง หลาน ๆ เป็นกรรมรอง)
 
          ข้อควรจำ คำบางคำอาจเป็นได้ทั้งอกรรมกริยา และสกรรมกริยา ดังนั้น เวลาใช้ต้องดูรูปประโยคด้วย เช่น
- หน้าต่างบานนี้ ปิด (ปิด ในที่นี้เป็นอกรรมกริยา)
- ฉัน ปิดหน้าต่างบานนี้ (ปิด ในที่นี้เป็นสกรรมกริยา)
- เข้า เปิดฝากระโปรงรถ (เปิด ในที่นี้เป็นสกรรมกริยา)
- ฝากระโปรงรถ เปิด (เปิด ในที่นี้เป็นอกรรมกริยา)

          ๓.๓ กริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา) คือ คำกริยาที่ ความหมายไม่สมบูรณ์ในตัวเอง จึงต้องมีคำนาม คำสรรพนามมาเป็นส่วนขยาย หรือมีข้อความหรือส่วนเติมเต็มมาต่อท้ายคำกริยาเหล่านั้น จึงจะได้ใจความสมบูรณ์
          คำกริยาหรือวิกตรรถกริยาเหล่านี้ได้แก่คำว่า “ คล้าย เป็น เท่า เหมือน คือ ดุจว่า” เช่น
ขัตติยะ เป็นคนจริงจังกับชีวิต
ผู้ดี คือคนที่ดีทั้งกายวาจาและใจ
          ซึ่งข้อความที่นำมาเติม หรือเป็นส่วนขยาย (คนจริงจังกับชีวิต, คนที่ดีทั้งกายวาจาและใจ) เราเรียกว่า ส่วนเติมเต็ม หรือ “ วิกัติการก

          ๓.๔ กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) คือ กริยาที่ใช้ประกอบกริยาสำคัญในประโยค เพื่อให้ความหมายของกริยาหลักนั้นชัดเจนขึ้น
          กริยา ช่วย ได้แก่คำว่า “ กำลัง แล้ว อาจ คง ต้อง จะ คงต้อง คงจะ น่า น่าจะ พึง จง ควร เคย ได้ ได้รับ ถูก โดน ย่อม ยัง อย่า ฟัง ชะรอย โปรด ช่วย ได้...แล้ว เคย...แล้ว น่าจะ...แล้ว” เช่น
ฉัน กำลังอ่านหนังสือ
นักเรียน น่าจะทำการบ้านมาแล้ว
           กริยา ช่วยอีกชนิดหนึ่งคือ คำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง แต่ต้องอาศัยคำกริยาชนิดอื่นจึงจะมีความหมาย ได้แก่คำว่า “ ซิ นะ เถอะ ละ นะ หรอก” เช่น
ฉันไม่ไปด้วย หรอก
ดึกแล้วนอน เถอะ
เจอกันตอนเช้า นะ
          ข้อควรจำ คำกริยาบางตัวอาจเป็นได้ทั้งกริยาแท้ และกริยาช่วย ดังนั้น เวลาใช้ต้องดูรูปประโยคด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นกริยาช่วยต้องมีกริยาแท้อยู่ในประโยค แต่ถ้าไม่มีกริยาแท้อยู่ในประโยคแสดงว่าคำนั้นเป็นกริยาแท้ เช่น
ผม ต้องทำงาน (กริยาช่วย)
ฉัน ได้รับของแล้ว (กริยาช่วย)
เขา ต้องตัวฉัน (สกรรมกริยา)
เขา ได้คะแนนเต็ม (สกรรมกริยา)


หน้าที่ของคำกริยา
          ๑. เป็นตัวแสดงในภาคแสดงของประโยค เช่น
นักธุรกิจ อ่านหนังสือพิมพ์
สตรี มีสิทธิทัดเทียมบุรุษ
          ๒. ขยายคำนาม เช่น
วันเสาร์นี้คือวันออก เดินทาง
เจ้าภาพงานเปลี่ยนรายการอาหาร เลี้ยงแขก
          ๓. ขยายกริยาด้วยกัน เช่น
ฉันเดิน เล่นในตอนเย็น
เธอนั่ง มองท้องฟ้าคนเดียว
คุณยายเดิน หาแว่นตา
          ๔. ทำหน้าที่เหมือนคำนาม เช่น
นอน เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด (นอน ทำหน้าที่เป็นประธาน)
ฉันชอบ เดินเร็ว ๆ (เดินเร็ว ๆ ทำหน้าที่เป็นกรรม)
เที่ยวกลางคืน มักมีอันตราย (เที่ยวกลางคืน ทำหน้าที่เป็นประธาน)
อ่าน หนังสือมาก ๆ ทำให้ฉลาด (อ่าน ทำหน้าที่เป็นประธาน)
          กริยาที่ทำหน้าที่เหมือนคำนามเหล่านี้ เราเรียกอีกอย่างว่า “ กริยาสภาวมาลา” โดยจะเติมคำว่า “ การ” เข้าข้างหน้าได้ โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยน เช่น การนอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ( นอนเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด)
          ๕. วางไว้หน้าประโยค ได้แก่คำว่า (เกิด มี ปรากฏ) เช่น
เกิด ไฟไหม้ที่ตลาด
มี ข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบ
ปรากฏ ร่องรอยการนิ้วมือของผู้ร้าย
 

๔. คำวิเศษณ์
          คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อบอกลักษณะต่าง ๆ (ขนาด สัณฐาน สี กลิ่น รส ปริมาณ สถานที่ ฯลฯ) และเพิ่มความหมายให้ชัดเจนขึ้น คำวิเศษณ์แบ่งเป็น ๙ ชนิด คือ
          ๔.๑ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ (ลักษณวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่าง ๆ ได้แก่
บอกชนิด ดี เลว ชั่ว อ่อน แก่ หนุ่ม สาว
บอกขนาด ใหญ่ เล็ก กว้าง ยาว เขื่อง
บอกสัณฐาน กลม แบน รี แป้น ทุย
บอกสี เขียว แดง เหลือง น้ำเงิน
บอกเสียง ดัง ค่อย เบา แผ่ว แหบ เพราะ ทุ้ม
บอกกลิ่น หอม เหม็น ฉุน
บอกรส เผ็ด หวาน เปรี้ยว ขม มัน
บอกสัมผัส ร้อน อุ่น เย็น นุ่ม อ่อน แข็ง กระด้าง หยาบ
บอกอาการ เร็ว ช้า เซ่อ ว่องไว กระฉับกระเฉง
 
          รูปประโยคท ี่มีลักษณวิเศษณ์ เช่น
คน แก่เดินช้า
พี่ชายคน โตฉันชื่ออัสนี
เขาร้องเพลง เพราะ
 
          ๔.๒ คำวิเศษณ์บอกเวลา (กาลวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลาในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ว่า “ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ โบราณ ก่อน” เช่น
เขามา สายทุกวัน
เราร้องเพลงชาติ เวลาเช้า
ไป เดี๋ยวนี้
 
          ๔.๓ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ (สถานวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ หรือระยะทาง ว่า “ บน ล่าง เหนือ ใต้ หน้า หลัง ไกล ใกล้ บก น้า” เช่น
เข้าย้ายไปอยู่ทาง เหนือ
ขึ้นลงเดินชิด ขวา
          คำวิเศษณ์บอกสถานที่บางคำ ถ้ามีคำนามหรือคำสรรพนามมาต่อท้าย จะถือเป็นคำบุพบททันที เช่น
บ้านของเขาอยู่ ใกล้ ( “ ใกล้” ในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์)
บ้านของเขาอยู่ ใกล้ตลาด (ใกล้ ในที่นี้เป็นคำบุพบท)
เขาเดินจากทิศ เหนือไปจนถึงทิศ ใต้ ( “ เหนือ, ใต้” ในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์)
ดินสออยู่ ใต้สมุด ( “ ใต้” ในที่นี้เป็นคำบุพบท)

          ๔.๔ คำวิเศษณ์บอกปริมาณ หรือจำนวน (ประมาณวิเศษณ์) แบ่งเป็น
          บอกปริมาณ ได้แก่คำว่า มาก น้อย บรรดา ต่าง บาง บ้าง ผอง ทั้งหมด ทั้งหลาย ทั้งปวง หลาย จุ ฯลฯ เช่น
บรรดาผู้มาชุมนุมได้รับการว่าจ้างจากนายทุน,
บาง คนก็หลังเวลาเรียน
          บอกจำนวน ได้แก่ จำนวนนับ หนึ่ง สอง สาม ที่สี่ ที่ห้า เช่น
ฉันสอบได้ ที่หนึ่งของห้อง
เขาทำงาน หกวันใน หนึ่งสัปดาห์
 
          ๔.๕ คำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ (นิยมวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ หรือเจาะจงว่า “ เช่นนี้ เช่นนั้น นี่ นี้ นั่น นั้น โน่น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น ดังนี้ ดังนั้น แท้ ดอก เอง แท้จริง ทีเดียว แน่นอน” เช่น
อย่ากล่าว เช่นนั้นเลย
แท้จริง เขาไม่ได้รักฉัน
ฉัน เองก็เสียใจ
ฉันทำกับข้าว เอง
          คำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ (นิยมวิเศษณ์) แตกต่างจากสรรนามชี้เฉพาะเจาะจง (นิยมสรรพนาม) เพราะ
          นิยมวิเศษณ์ ทำหน้าที่ขยาย และช่วยให้คำที่ถูกขยายมีความหมายชัดเจนและชี้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นโดยคำนิยมวิเศษณ์จะวางอยู่หลังคำที่ถูกขยาย เช่น
บ้าน นี้เป็นบ้านของฉัน (นี้ เป็นนิยมวิเศษณ์ ขยายคำว่าบ้าน)
          นิยมสรรพนาม ทำหน้าที่แทนคำนาม โดยมีความหมายแทนคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่
          ตัวอย่าง
บ้าน นี้เป็นบ้านของฉัน (นิยมวิเศษณ์) สุนัขตัว นั้นเป็นของฉัน (นิยมวิเศษณ์)
นี่ คือบ้านของฉัน (นิยมสรรพนาม) โน่นไงสุนัขของฉัน (นิยมสรรพนาม)
หนังสือเล่ม นี้ที่ฉันชอบ (นิยมวิเศษณ์) หยิบขนม นั่นติดมือไปด้วย (นิยมวิเศษณ์)
นี่ คือหนังสือที่ฉันชอบ (นิยมสรรพนาม) หยิบ นั่นติดมือไปด้วย (นิยมสรรพนาม)
 
          ๔.๖ คำวิเศษณ์บอกความไม่ชี้เฉพาะ (อนิยมวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่มีรูปซ้ำกับปฤจฉาวิเศษณ์ แต่ไม่ใช่ประโยคคำถาม โดยจะใช้ในประโยคที่แสดงความไม่แน่นอน ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง และ ไม่ต้องการคำตอบ
          อนิยมวิเศษณ์ ได้แก่คำว่า “ ใด ไร ไหน อย่างไร อย่างไหน กี่ อะไร ทำไม ฉันใด เช่นไร อื่น” เช่น
คน อื่นไปกันหมดแล้ว
เธอจะนั่งเก้าอี้ตัว ไหนก็ได้
          คำวิเศษณ์บอกความไม่ชี้เฉพาะ (อนิยมวิเศษณ์) แตกต่างจากสรรพนามไม่เฉพาะเจาะจง (อนิยมสรรพนาม) พิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้
อาหาร อะไรฉันก็กินได้ทั้งนั้น (อนิยมวิเศษณ์) ระบุว่า “ อะไร” ในที่นี้คืออาหาร
อะไร ฉันก็กินได้ทั้งนั้น (อนิยมสรรพนาม)  
นักเรียนคน ใดที่ทำดี ฉันก็รักทั้งนั้น (อนิยมวิเศษณ์) ระบุว่า “ ใคร” ในที่นี้คือนักเรียน
ใคร ที่ทำดี ฉันก็รักทั้งนั้น (อนิยมสรรพนาม)

          ๔.๗ คำวิเศษณ์แสดงคำถาม (ปฤจฉาวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงคำถาม หรือความสงสัยว่า “ ใคร อะไร ทำไม ไหน ใด ฉันใด เช่นไร อันใด อย่างไร ไย” เช่น
ใบเตยมีกลิ่น อย่างไร
เธออายุ เท่าไร
ตึกใบหยกมีชื่อเสียงในด้าน ใด
           คำวิเศษณ์แสดงคำถาม (ปฤจฉาวิเศษณ์) แตกต่างจากสรรพนามใช้ถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) เพราะ ปฤจฉาวิเศษณ์ จะต้อง ตอบด้วยคำวิเศษณ์ เช่น
ใบเตยมีกลิ่นอย่างไร (หอม)
เธออายุเท่าไร (๑๕ ปี)
ตึกใบหยกมีชื่อเสียงในด้านใด (สูง)
ปฤจฉาสรรพนาม จะต้อง ตอบด้วยคำนาม เช่น
สิ่งใด อยู่ในตู้ (กระเป๋า/เสื้อผ้า)
ใคร เป็นผู้ให้กำเนิดกิจการเสือป่า (รัชกาลที่ ๖)
ใคร มา (ครู / เจ้าหนี้)

          ๔.๘ คำวิเศษณ์แสดงคำขานรับ (ประติชญาวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงถึงการขานรับในการเจรจา ได้แก่คำว่า “ จ๋า ขา ครับ ขอรับ คะ ครับ จ้ะ โว๊ย วะ” เช่น
แม่ จ๋าขอเงินซื้อขนมหน่อย คะ
ครู ครับช่วยอธิบายช้า ๆ
แดง เอ๊ย เพื่อนเรียกอยู่หน้าบ้าน
 
          ๔.๙ คำวิเศษณ์แสดงความปฏิเสธ (ประติเสธวิเศษณ์) คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธหรือไม่ยอมรับ ได้แก่คำว่า “ ไม่ ไม่ได้ มิได้ หาไม่ หามิได้ ไม่ใช่ บ่ อย่า” เช่น
เธอ อย่าเล่าเรื่องฉันให้คนอื่นฟังนะ
ข้าราชการที่ทุจริตคือคน ไม่รักชาติ
บุญคุณของพ่อแม่ประมาณค่า มิได้  


หน้าที่ของคำวิเศษณ์
          ๑. ขยายคำนาม เช่น
เด็ก น้อยร้องไห้
บ้าน เล็กอยู่ในทุ่ง กว้าง
ตำรวจ หลายคนล้อมจับผู้ร้าย
          ๒. ขยายคำสรรพนาม เช่น
ฉัน เองเป็นคนเอาไป
ใคร หนอรักเราเท่าชีวี
เธอ นั่นแหละนิสัยไม่ดี
          ๓. ขยายคำกริยา เช่น
อย่ากิน มูมมาม
นักเรียนพูด เพราะ
ปีนี้ฝนตก น้อย
          ๔. ขยายคำวิเศษณ์ เช่น
พายุพัดแรง มาก
เขาร้องเพลงเพราะ จริง ๆ
ดอกกุหลาบมีกลิ่นหอม ฟุ้ง
          ๕. ขยายกรรม เช่น
ครูตีเด็ก ขี้เกียจ
ปลาใหญ่กินปลา เล็ก
          ๖. ขยายส่วนขยาย เช่น
เธอร้องเพลงได้ไพเราะ จับใจ
ดอกกุหลาบบาน สะพรั่ง
          ๗. เป็นกริยาในภาคแสดงของประโยค เช่น
ข้อสอบวิชาภาษาไทย ยากกว่าวิชาอื่น ( “ ยาก” เป็นคำวิเศษณ์ แต่ทำหน้าที่เป็นคำกริยา)
น้ำปลา เค็ม ( “ เค็ม” เป็นคำวิเศษณ์ แต่ทำหน้าที่เป็นคำกริยา)
 

๕. คำบุพบท
          คือ คำที่ใช้นำหน้าคำนาม คำกริยา คำสรรพนาม และคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมโยงคำ/กลุ่มคำหนึ่ง ให้สัมพันธ์กับคำ/กลุ่มคำอื่น เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำ หรือกลุ่มคำที่ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน คำบุพบทแบ่งได้ ๒ ชนิด คือ
          ๕.๑ คำบุพบทที่ ไม่เชื่อมกับคำอื่น บุพบทชนิดนี้จะใช้นำหน้าคำ หรือกลุ่มคำนาม และ คำสรรพนาม เพื่อแสดงการทักทาย หรือเป็นคำเรียกร้องให้ผู้ฟังสนใจ ได้แก่คำว่า “ ดูกร กูก่อน ดูรา ข้าแต่ ยัง” คำเหล่านี้จะพบได้ในหนังสือเทศน์ วรรณคดี หรือพระไตรปิฎก เช่น
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

          ๕.๒ คำบุพบทที่เชื่อมกับคำอื่น ได้แก่ คำบุพบทที่นำหน้าคำ กลุ่มคำนาม คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ และคำกริยาบางคำ เพื่อบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำที่อยู่หลังกับข้อความข้างหน้า คำบุพบทชนิดนี้แบ่งเป็น ๗ ชนิดย่อย คือ
          (๑.) คำบุพบทนำหน้ากรรม ได้แก่คำว่า “ แก่ ซึ่ง เฉพาะ สู่ ยัง ตลอด” เช่น
เราต้องให้อภัย ซึ่งกันและกัน
ครูถ่ายทอดความรู้ ให้แก่นักเรียน
ถนนทุกสายมุ่ง สู่กรุงโรม
          (๒.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อบอกความเป็นเจ้าของ ได้แก่คำว่า “ ของ แห่ง ใน” เช่น
รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรี แห่งความเป็นมนุษย์
พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โรงเรียน ของเราน่าอยู่
          (๓.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อแสดงความเป็นผู้รับ ได้แก่คำว่า “ แก่ แด่ ต่อ เพื่อ สำหรับ เฉพาะ” เช่น
รถประจำทางมีที่นั่ง สำหรับผู้พิการ
เขาสาบาน ต่อหน้าพระ
เราควรทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
          (๔.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อบอกลักษณะเป็นเครื่องใช้ หรือมีอาการร่วมกัน ได้แก่คำว่า “ ตาม ด้วย ทั้ง โดย กับ เพราะ” เช่น
กินข้าว กับปลาทู
ดอกไม้ทำ ด้วยกระดาษสา
ฉันไปเรียน โดยรถประจำทาง
          (๕.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อบอกเวลา ได้แก่คำว่า “ ก่อน เมื่อ แต่ ตั้งแต่ จน กระทั่ง ณ จนกระทั่ง ภายใน ใน เฉพาะ สำหรับ” เช่น
เขาจากฉันไป เมื่อปีก่อน
เขาอ่านหนังสือ จนดึกทุกคืน
ครูให้ส่งการบ้าน ภายในวันนี้
          (๖.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อบอกสถานที่ ได้แก่คำว่า “ ใน นอก บน เหนือ ใต้ ชิด ใกล้ ไกล ริม ที่ จาก ถึง สู่ ยัง แต่ ถึง ห่าง ชิด” เช่น
นกเกาะอยู่ บนต้นไม้
หนังสืออยู่ ใต้โต๊ะ
ฉันมีบ้าน ริมทะเล
          (๗.) คำบุพบทนำหน้าบท เพื่อบอกประมาณ ได้แก่คำว่า “ เกือบ ตลอด ประมาณ ราว สัก ชั่ว สิ้น ทั้งสิ้น” เช่น
เขาจะกลับจากต่างประเทศ ประมาณเดือนหน้า
ฉันต้องการความรักจากใคร สักคน
ฉันอ่านหนังสือวันละ เกือบ ๙ ชั่วโมง

ข้อควรจำ
          ๑.) คำบุพบทจะใช้ตามลำพังไม่ได้ จะต้องมีคำตามหลังเสมอ แต่คำวิเศษณ์จะใช้ประกอบกับคำที่อยู่ข้างหน้า ดังนั้นจึงจะมีคำตามหลังหรือไม่ก็ได้ เช่น
เธอนั่ง ในห้อง (คำบุพบท)
บ้านฉันอยู่ ใกล้ทะเล (คำบุพบท)
เธอนั่ง ใน (คำวิเศษณ์)
บ้านฉันอยู่ ใกล้ (คำวิเศษณ์)
          ๒.) ข้อความที่อยู่หลังคำบุพบทต้องเป็นคำหรือกลุ่มคำเท่านั้น จะเป็นประโยคไม่ได้ เช่น
เพื่อนฉันเดินทางมา จากเชียงใหม่
ฉันหลับสนิท ตลอดคืน
          ๓.) การพิจารณาว่าคำใดเป็นคำบุพบทนั้น ต้องดูหน้าที่ของคำเป็นหลัก เพราะคำแต่ละชนิดทำหน้าที่ และมีความหมายต่างกัน เช่น คำว่า “ แก่”
- สมบูรณ์เป็นคน แก่ (คำวิเศษณ์)
- สมบูรณ์ให้เงิน แก่ขอทาน (คำบุพบท)
- คุณยาย แก่มากแล้ว (คำกริยา)
- สมบูรณ์เป็นกันเอง แก่ทุกคน ( คำสันธาน)
          ๔.) คำบุพบทไม่มีความหมายที่ตัวมันเอง แต่ความหมายจะไปอยู่ที่คำหลังบุพบท ส่วนคำวิเศษณ์มีความหมายชัดเจนในตัวเอง เช่น
ท่านเป็นแม่ ของฉัน (ของ เป็นคำบุพบท)
คุณพ่อสวมเสื้อ แดง (แดง เป็นคำวิเศษณ์บอกสี)
          ๕.) บางประโยคสามารถละบุพบทได้ โดยที่ความหมายของประโยคไม่เปลี่ยนแปลง เช่น
ขน (ของ) หมานุ่ม
นกเกาะ (บน) กิ่งไม้
แม่ให้เงิน (แก่) ลูก
 
หลัักการใช้คำบุพบทบางคำ
          ๑. กับ ใช้ในความหมายร่วมกัน ทำกริยาเหมือนกัน ไปหรือมาด้วยกัน เช่น เธอไป กับฉัน, มันมา กับใคร
          ๒. แก่ ใช้ในการเสนอและสนอง โดยมักจะใช้กับผู้น้อย หรือคนที่เสมอกัน
เช่น เขาขายสินค้าให้ แก่ลูกค้า, ครูให้รางวัล แก่นักเรียน
          ๓. แด่ ใช้ในการเสนอ โดยจะใช้กับบุคลผู้ที่สูงกว่า หรือบุคคลที่เคารพนับถือ
เช่น ถวายสังฆทาน แด่พระสงฆ์, นักเรียนมอบของขวัญให้ แด่อาจารย์
          ๔. ใน ใช้กับบุคคลที่เคารพนับถือ และใช้ในความหมายที่แสดงว่าของเล็กอยู่ในของใหญ่
เช่น ข้าราชการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, นกน้อง ในไร่ส้ม
          ๕. ด้วย ใช้เมื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องทำกริยาต่าง ๆ เช่น เขียนหนังสือ ด้วยปากกา, ตี ด้วยไม้
          ๖. ของ ใช้กับคำที่แสดงความเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ๆ เช่น กางเกงตัวนี้ ของฉัน, วิทยุเครื่องนั้น ของฉัน
          ๗. แต่ ใช้ในความหมายว่า “ จาก” (น้ำไหลมา แต่ภูเขา), “ ตั้งแต่” (ฉันตื่น แต่เช้า),
“ และเพียงเฉพาะ” (เขากิน แต่หมู)
          ๘. ตาม ใช้ในลักษณะเป็นไปตามแบบแผน แนวทาง ลักษณะ รูปแบบ
เช่น เขาชอบทำ ตามอำเภอใจ, เด็กมักทำ ตามผู้ใหญ่
          ๙. เพื่อ ใช้กับความต้องการในอนาคต หรือสิ่งที่มุ่งหมายตั้งแต่แรก
เช่น พ่อแม่ทำงาน เพื่อลูก, ฉันทำทุกอย่าง เพื่อเธอ


หน้าที่คำบุพบท
          ๑. นำหน้าคำนาม เช่น
ถั่วเขียวเป็นอาหาร ของนกพิราบ
นักเรียนทุกคนอยู่ ในห้องอย่างสงบ
          ๒. นำหน้าคำสรรพนาม เช่น
ฉันต้องการจะไป กับเขา
ทุกอย่างฉันทำไป เพื่อคุณ
          ๓. นำหน้าคำกริยา เช่น
เขาทำงานหนัก จนตาย
พวกเราเตรีมอาหาร สำหรับรับประทาน
          ๔. นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น
เขาบอกว่าจะมาหาฉัน โดยเร็ว
ฉันจะพูด ตามจริง
 

๖. คำสันธาน
          คือ คำที่ใช้เชื่อมระหว่างคำ ประโยค กลุ่มคำ ที่อยู่คนละประโยคให้เป็นประโยคเดียวกัน ซึ่งทำให้ประโยคสละสลวย และได้ใจความมากขึ้น คำสันธานแบ่งเป็น ๘ ชนิด คือ
          ๖.๑ เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า “ ก็ จึง เช่น ว่า ให้ คือ ทั้ง เมื่อ...ก็ ทั้ง...ก็ ก็คือ ก็ดี ก็ได้ เท่ากับ กับ และ ทั้ง...และ ทั้ง...ก็ ครั้น...ก็ ครั้น...จึง พอ...ก็ ถึง...ก็ กับทั้ง...ก็”
เช่น ฉัน และเธอชอบไปเที่ยวทะเล
ฉันชอบ ทั้งวิชาสังคม และภาษาไทย
ครั้น ถึงเวลาหกโมงเย็นฉัน จึงกลับบ้าน ”
 
          ๖.๒ เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า “ แต่ แต่ว่า ถึง...ก็ กว่า...ก็ แม้ว่า ทว่า แต่ทว่า”
เช่น เขาอยากสอบได้ แต่ขี้เกียจอ่านหนังสือ
ถึง สอบไม่ได้ ฉัน ก็ไม่ท้อใจ
กว่า ถั่วจะสุกงา ก็ไหม้
 
          ๖.๓ เชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า “ เพราะ เพราะว่า..จึง ฉะนั้น...จึง เพราะ...จึง เหตุฉะนี้ ดังนั้น ด้วย จึง ฉะนี้ ฉะนั้น ด้วยว่า เหตุเพราะ เหตุว่า”
เช่น ฉันสอบติดโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะอ่านหนังสือทุกวัน
เพราะว่าเธอดีกับฉัน ฉัน จึงรักเธอ
ฉันไปเที่ยววันเด็กที่กองทัพอากาศ ดังนั้นฉันจึงได้เห็นเครื่องบิน
 
          ๖.๔ เชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า “ หรือ หรือไม่ก็ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้นก็ ไม่...ก็ ถ้า...ก็”
เช่น คุณจะเดิน หรือจะวิ่งไปตลาด
ไม่ เธอ ก็ฉันที่ต้องพังกันไปข้างหนึ่ง
เราต้องขยันกว่านี้ มิฉะนั้นจะสอบไม่ได้
 
          ๖.๕ เชื่อมความต่างตอน ได้แก่คำว่า “ ส่วน ฝ่าย ส่วนว่า ฝ่ายว่า อนึ่ง อีกประการหนึ่ง เป็นต้นว่า เช่นว่า”
เช่น เธอไปหยิบปากการ ส่วนฉันจะไปซื้อกระดาษ
เราขยันอ่านหนังสือ ฝ่ายเขาก็เอาแต่คุย
 
          ๖.๖ เชื่อมความที่แบ่งรับแบ่งสู้ ได้แก่คำว่า “ ถ้า ถ้าว่า แม้ แม้ว่า มาตรแม้น ถ้า...ไซร้ ผิว์ หากว่า สมมติว่า”
เช่น ถ้าคุณไม่ว่าอะไรฉัน ก็จะดำเนินงานต่อไป
สมมติว่า เก็บเงินได้หนึ่งล้านบาท ฉันจะส่งคืนเจ้าของ
 
          ๖.๗ เชื่อมความเปรียบเทียบ ได้แก่คำว่า “ ดุจ ดุจว่า เหมือน เสมือน เท่ากับว่า คล้ายประหนึ่งว่า”
เช่น เราควรรักและหวงแหนแผ่นดินผืนนี้ เหมือนที่บรรพบุรุษได้สละชีวิต
เธอช่างงดงาม ดุจดังนางฟ้ามาจุติ
 
          ๖.๘ เชื่อมความให้สละสลวย ได้แก่คำว่า “ ทำไม กับ อย่างไร ก็ดี อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุดแต่ว่า สักแต่ว่า อันว่า”
เช่น ตำรวจตั้งด่านตรวจจับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เมาแล้วขับ
 
ข้อสังเกต
          ๑. คำสันธานสามารถวางในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยคได้
          ๒. คำสันธานอาจเป็นคำ หรือกลุ่มคำก็ได้
          ๓. คำสันธานบางตัวต้องใช้คู่กัน เช่น เพราะฉะนั้น...จึง, กว่า...ก็, ถึง...แต่
          ๔. ประโยคสันธานต้องสามารถแยกออกเป็นสองประโยคย่อยเสมอ เช่น
ประโยคสันธาน ฉันชอบไปเที่ยวทะเล แต่น้องชอบไปเที่ยวภูเขา
ประโยคย่อย ฉันชอบไปเที่ยวทะเล
ประโยคย่อย น้องชอบไปเที่ยวภูเขา
สันธานเชื่อมประโยค คือ แต่
 
 
หน้าที่ของคำสันธาน
          ๑. เชื่อมคำกับคำ เช่น
ฉัน กับเธอชอบกินสุกี้
เธอชอบทีมชาติอังกฤษ หรือทีมชาติฝรั่งเศส
แม่ปลูกดอกกุหลาบ และดอกมะลิ
          ๒. เชื่อมข้อความกับข้อความ เช่น
การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นการกระทำที่รบกวนบุคคลข้างเคียงที่ไม่สูบบุหรี่
เพราะฉะนั้น จึงได้มีกฎหมายห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
          ๓. เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น
เขามาหาเธอ หรือมาหาฉัน
ฉันไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะไม่สบาย
เธอชอบอาหารไทย แต่ฉันชอบอาหารญี่ปุ่น
          ๔. คำว่า “ ให้ ว่า” ถ้าเป็นคำเชื่อมประโยค ก็ถือว่าทำหน้าที่เป็นคำสันธานด้วย เช่น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ ว่า แพ้เป็นประชนะเป็นมาร
คุณแม่สั่ง ให้ลูกทำการบ้าน
มีคนเล่า ว่าแถวนี้ผีดุ
          ๕. คำว่า “ ที่ ซึ่ง อัน ผู้” ซึ่งเป็นประพันธสรรพนาม (ทำหน้าที่แทนคำนามที่กล่าวมาก่อนแล้ว) ถือว่าคำชนิดนี้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำสันธาน เช่น
สุนัข ที่ฉันส่งเข้าประกวดได้รางวัลชนะเลิศ
รัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกำลังจะหมดวาระ
ความสุข อันใดก็ไม่เท่ากับความสุขทางใด
ชายนิรนาม ผู้ช่วยเหลือ ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
          ๖. คำสันธานอาจละไว้ในฐานที่เข้าใจ ดังนั้น ต้องพิจารณาคำกริยาในประโยคหลัก ถ้าประโยคมีคำกริยามากกว่า ๑ คำ แสดงว่าประโยคนั้นละสันธานไว้ เช่น
- ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ( [ มี] ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด)
- เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม (เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตาม)
- ได้หน้าลืมหลัง (เมื่อได้หน้า แล้วลืมหลัง)
          ๗. คำสันธานกับคำชนิดอื่น ๆ อาจจะเป็นคำชนิดเดียวกันได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาโดยการแยกประโยค ถ้าประโยคใดแยกเป็นประโยคย่อยได้ ๒ ประโยค คำนั้นก็เป็นคำสันธาน เช่น
เพราะ   - เธอพูดเพราะจนได้รับคำชมจากครู (คำวิเศษณ์)
          - ฉันเขียนหนังสือไม่สวย เพราะไม่ชอบหัดเขียน (คำบุพบท)
          - เขาทำงานงานเรียบร้อยเพราะมีความตั้งใจ (คำสันธาน)
แก่       - คุณยายของฉันเป็นคนแก่ที่ใจดี (คำวิเศษณ์)
          - นักร้องให้ของขวัญแก่เด็กพิการ (คำบุพบท)
          - ผลไม้แก่จัดบางชนิดรสชาติไม่อร่อย (คำกริยา)
 

๗. คำอุทาน
           คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งเปล่งออกมาเวลาดีใจ เสียใจ ตกใจ หรือประหลาดใจ โดยมากคำอุทานไม่ได้มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายเน้นถึงความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ คำอุทานแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ
           ๗.๑ อุทานบอกอาการ เป็นคำที่เปล่งออกมาเมื่อมีความรู้สึกต่าง ๆ แบ่งเป็น
           ๑.) ใช้แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ในการพูด เช่น
- แปลกใจ โอ้โฮ แหม อะไรกัน
- โกรธเคือง แหม ดูดู๋ ชิชะ
- สงสาร อนิจจา โถ พุทโธ่เอ๋ย น้องเอ๋ย
- เข้าใจ/รับรู้ อ้อ หื้อ เออ เออน่ะ เอาละ อ๋อ จริง เออวะ
- เจ็บปวด อุ๊ย โอ๊ย โอย
- ชักชวน/ตักเตือน นะ น่า
- เจ็บ โอ๊ย โอย ซู๊ด
- สงสัย/ไต่ถาม เอ๊ะ หือ หา ฮะ
- ผิดหวัง ว้า เฮอ
- โล่งใจ เฮอ เฮ้อ
- หวาดหวั่น ตายละวา แย่แล้ว
- ขุ่นเคือง ฮึ่ม ดีละ บ๊ะ แล้วกัน วะ
- ร้องเรียก เฮ้ย แน่ะ นี่แน่ะ เฮ้ โว้ย
- ทักท้วง ไฮ้ ฮ้า
- ประหม่า เอ้อ อ้า
- ดูถูกเหยียดหยาม เชอะ ชะ หนอยแน่ะ หนอย เฮ้อ
- ตกใจ/ประหลาดใจ ต๊ายตาย ว้าย วุ้ย ตายแล้ว แหม ตายจริง คุณพระช่วย เออแน่ะ
แม่เจ้าโว้ย เอ้อเฮอ โอ้โฮ
           ๒.) ใช้ในคำประพันธ์ ได้แก่คำว่า “ อ้า โอ้ โอ้ว่า” เช่น โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม

          ๗.๒ อุทานเสริมบท คือ คำที่ใช้เป็นสร้อยคำ หรือคำเสริมบทต่าง ๆ โดยคำอุทานเสริมบทจะต้องเป็นคำที่ไม่มีความหมาย เพียงแต่นำมาเสริมให้ประโยคมีความชัดเจนยิ่งขึ้น หรือให้ถ้อยคำสละสลวยขึ้น อุทานเสริมบทแบ่งได้ดังนี้
          ๑.) คำอุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย คือ คำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยของคำประพันธ์ โคลง ร่าย หรือใช้เป็นคำลงท้ายในบทประพันธ์ เพื่อให้รู้ว่าจบข้อความโดยบริบูรณ์ ได้แก่คำว่า “ ฮา เฮย แฮ แล นา รา เอย” เช่น เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่ เอย
          ๒.) คำอุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม คือ คำอุทานที่ใช้เสริมต่อถ้อยคำให้เยิ่นเย้อ ออกไป แต่ไม่ต้องการความหมายที่เสริมเข้ามา เช่น อาบน้ำ อาบท่า, กินข้าว กินปลา, ทีหน้าทีหลัง, ไม่รู้ ไม่ชี้, รถ รา, น้อง นุ่ง, หนังสือ หนังหา, ลูกเต้า, ผมเผ้า, ยุ่ง เหยิง

ข้อสังเกต
          ๑. คำอุทานเสริมบทจะต้องไม่มีความหมาย แต่ถ้าคำที่นำมาเสริมทำให้ประโยคมีความหมายคำนั้นไม่ถือเป็นคำอุทาน เช่น
เขา อดหลับอดนอนมาตลอดคืน (กลุ่มคำกริยา)
ขยะพวกนี้ ไม่เก็บไม่กวาดกันเลยหรือ (กลุ่มคำกริยา)
          ๒. ถ้าคำที่นำมาเข้าคู่กันมีเนื้อความ หรือความหมายไปในลักษณะเดียวกัน ค่ำเหล่านั้นไม่นับว่าเป็นคำอุทานเสริมบท แต่เรียกว่า “ คำซ้อน” เช่น
ไม่ดูไม่แล
ไม่หลับไม่นอน
ดีดสีตีเป่า
ร้องรำทำเพลง

หน้าที่คำอุทาน
           ๑.) คำอุทานเราจะใช้ในบทสนทนาเท่านั้น แต่เวลาที่เขียนเรียงความ ย่อความ หรือบทความทั่วไปจะไม่ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! )
          ๒.) คำอุทานในบทร้องกรอง และอุทานเสริมบทไม่ต้องใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! ) แต่ถ้าเป็นบทสนทนาทั่วไป หรือ ถอดความออกเป็นลายลักษณ์อักษร ควรใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์กำกับไว้หลังคำอุทานนั้นด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพลักษณ์มากยิ่งขึ้นว่าอารมณ์ของประโยคนั้น ๆ เป็นอย่างไร

***

บรรณานุกรม
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). หนังสือ เรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สารัตถสัมพันธ์ เล่มที่ ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๑-ม.๓). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๒๐๓ ท ๒๐๔ หลักภาษาไทย เล่ม ๒. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๖). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ หลักภาษาไทย เล่ม ๓. (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
ประวีณา มีชอบธรรม. (๒๕๔๔). ภาษาไทย (บังคับ). (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศูนย์หนังสือเมืองไทย.
พรทิพย์ แฟงสุต. (๒๕๔๔). รวมหลักภาษาไทย ม.ต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์
ยศ พนัสสรณ์. (๒๕๓๖). ภาษาไทย ม.ต้น (ฉบับเตรียมสอบ). กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์แม็ค จำกัด.
วสุณี รักษาจันทร์. หลักภาษาไทย ม.๑. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด.
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น